รายการแนะนำ
ประเมินสุขภาพจิตนักเรียน สกัดปัญหาเครียด-ซึมเศร้า
น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากกรณี น.ส.พัชรินทร์ เอสะตี หรือ ครูอุ้ม ครูโรงเรียนบ้านมะขามทานตะวัน จ.บุรีรัมย์ โพสต์คลิปของ ด.ญ.สุธีมมนต์ จินดาศรี หรือ น้องเตย อายุ 4 ขวบ นักเรียนชั้นอนุบาล 2 ขณะล้างจานที่บ้าน พร้อมบรรยายชีวิตของน้องที่ต้องดูแลย่าของตัวเองวัย 68 ปี ที่ตาบอดเพียงลำพัง ตามโครงการเยี่ยมบ้านนักเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นั้น ต้องขอชื่นชมจิตวิญญาณของครูอุ้มและขอให้กำลังใจ เนื่องจากครูของเราทำงานอย่างหนักที่ต้องดูแลเด็กที่โรงเรียนแล้ว ยังต้องตามติดระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนไปถึงบ้าน ซึ่งโครงการเยี่ยมบ้านนักเรียน ถือเป็นโครงการที่ดีทีจะทำให้เราเห็นสภาพปัญหาของเด็กนักเรียนเป็นรายบุคคลอย่างแท้จริง
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้เมื่อเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 มาแล้วกว่า 1 เดือน พบว่าเด็กทุกคนมีที่เรียนแม้เด็กบางกลุ่มอาจพลาดโอกาสจากโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงก็ตาม และนอกจากนี้ตนยังกำชับให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำรวจข้อมูลเด็กตกหล่นจากระบบการศึกษา หรือเด็กลาออกกลางคันด้วยว่ามีจำนวนเท่าไหร่ และสาเหตุของการไม่มาเรียนเป็นเพราะอะไร เพื่อนำเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการระบาดรอบใหม่เกิดขึ้นนั้น ขณะนี้สถานศึกษาทุกแห่งยังจัดการเรียนการสอนตามปกติภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ซึ่งตนยังไม่ได้รับรายงานว่ามีสถานศึกษาแห่งใดจะต้องหยุดการเรียนการสอนทั้งโรงเรียน โดยสถานศึกษาทุกแห่งยังสามารถบริหารจัดการตามมาตรการโควิดของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้อย่างดีเยี่ยม
น.ส.ตรีนุช กล่าวอีกว่า นอกจากนี้คณะกรรมการพัฒนาศักยภาพเด็กไทยด้านการศึกษาและสาธารณสุข ที่มี พญ.พรรณพิมล วิปุลากร คณะที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธานนั้น ได้จัดทำแผนประเมินสุขภาพจิตของกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาขึ้น ซึ่งเร็วๆ นี้ จะจัดส่งไปยังเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อให้ทำการประเมินข้อมูลสุขภาพจิตนักเรียนเป็นรายบุคคลว่า เด็กแต่ละคนมีปัญหาในด้านไหนอย่างไร หรือเกิดภาวะซึมเศร้า รวมถึงความเครียดจากการเรียน เนื่องจากมองว่ากลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของวัยรุ่น ซึ่งจะทำให้ครูได้รับทราบปัญหานักเรียนเป็นรายบุคคลและหาแนวทางเยียวยาช่วยเหลือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นกับนักเรียนได้
...เดลินิวส์