ข่าวการศึกษา

กอปศ.ถกดูแลการศึกษาเด็กพิเศษ


    

          บอร์ดอิสระ ถก ปฎิรูปการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ พร้อมสร้างระบบคัดกรองที่มีคุณภาพให้ทุกโรงเรียน แนะ เขตพื้นที่สร้างห้องเรียนพิเศษสำหรับเด็กเฉพาะกลุ่มก่อนเคลื่อนเด็กพิเศษสู่การเรียนร่วม รวมถึงจะบรรจุเรื่องการดูแลเด็กพิเศษในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ด้วย

          รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อปฎิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กอปศ.ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการปฎิรูปการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ ซึ่ง กอปศ.ให้ความสำคัญกับการดูแลเด็กพิเศษ แม้ก่อนหน้านี้เราจะมี พ.ร.บ.การศึกษาคนพิการ แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมและความเป็นจริงเด็กกลุ่มพิการ เด็กพิเศษก็ยังไม่ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ยังไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษาและเกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยที่ผ่านมาเด็กพิการได้แบ่งการพิการออกเป็น 9 ประเภท แต่ปัจจุบันนี้มีเด็กพิการที่เกิดความพิการแบบไม่เห็นเด่นชัด ได้แก่ เด็กโรคการเรียนรู้บกพร่อง (แอลดี)  เด็กที่มีความบกพร่องและพฤติกรรม มีปัญหาทางการสื่อสาร และเด็กสมาธิสั้น เป็นต้น ขณะเดียวกันในประเทศไทยระบุว่ามีเด็กแอลดี จำนวน 300,000 คน แต่เมื่อคณะทำงานของตนเก็บข้อมูลวิเคราะห์พบว่าเด็กที่เป็นแอลดีจริงๆมีเพียง 37% เท่านั้น แต่ที่มีเด็กแอลดีจำนวนมากเกิดจากโรงเรียนไม่มีระบบคัดกรอง และเมื่อเห็นว่าเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ก็ระบุว่าเป็นเด็กแอลดีทั้งหมด เพราะเด็กกลุ่มนี้ไม่ต้องสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) อีกทั้งยังพบว่า โรงเรียนผลักให้เด็กแอลดีเหล่านี้ไปอยู่ในกลุ่มพิการ เพื่อให้ได้รับเงินอุดหนุนรายหัวเด็กพิการ 2,000 บาท นอกจากนี้ยังพบประเทศไทยมีเด็กสมาธิสั้นเพิ่ม 5-10% แต่เมื่อครูไม่เข้าใจก็พยายามผลักเด็กกลุ่มนี้ออกจากโรงเรียน ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วเด็กลุ่มแอลดี เด็กออทิสติก และเด็กสมาธิสั้น มีความสามารถสูงบางคนก็เป็นเด็กอัจฉริยะ ดังนั้นจึงถือว่าเด็กเหล่านี้เป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพ หากได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้อง
 
          รศ.ดร.ดารณี กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้การปฎิรูปการศึกษา กอปศ.จะให้ความสำคัญกับระบบคัดกรองเด็กช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ โดยจะมอบให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ไปคัดเลือกโรงเรียนที่มีความพร้อม เพื่อสร้างห้องเรียนพิเศษให้แก่เด็กเหล่านี้ที่อยู่ในบริบทของโรงเรียนทั่วไปก่อนเคลื่อนเด็กเข้าสู่ระบบการเรียนร่วมปกติ พร้อมกับให้ สพท.จัดหานักจิตวิทยาประจำโรงเรียน รวมถึงอาจมีการอบรมให้ความรู้เพิ่มเติมแก่ครูแนะแนวในเรื่องนี้ และการสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ กอปศ.จะบรรจุเรื่องกลุ่มบุคคลที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับใหม่ด้วย 

          ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธาน กอปศ.กล่าวว่า  การปฎิรูปการศึกษาครั้งนี้เราจะมุ่งดูแลและให้ความสำคัญกับเด็กเหล่านี้ให้มีคุณภาพและควรได้โอกาสในการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ รวมถึงจะดูแลไปถึงเด็กทีมีความเปราะบางทางสังคม เช่น พ่อแม่หย่าร้าง ลูกติดเชื้อเฮชไอวี เป็นต้น  ซึ่งจะต้องหาวิธีการบริหารจัดการที่แตกต่างอย่างหลากหลาย พร้อมกับหากระบวนการคัดกรองที่ถูกต้อง หรืออาจจะมีการจัดทำแผนปฎิรูปการศึกษาเฉพาะกลุ่มเด็กเหล่านี้ เพราะเราไม่อยากให้เด็กเหล่านี้เป็นตัวปัญหาของสังคมอย่างที่เราพบปัญหาคือ มีโรงเรียนบางแห่งอยากให้โรงเรียนมีลำดับคะแนนการทดสอบทางการศึกษาต่างๆที่สูงก็พยายามกันเด็กเหล่านี้ไม่ให้มาเข้าสอบ เพื่อเป็นตัวถ่วง ดังนั้นในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่กำลังจัดทำจะมีการกำหนดเป็นมาตราหนึ่งสำหรับดูแลเด็กพิการ เด็กความสามารถพิเศษ และเด็กกลุ่มที่มีความต้องการดูแลเป็นพิเศษ...

























...เดลินิวส์

ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา

อาคารศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กทม. 10400

0 2354 5730-40 ต่อ 414-415

0 2354 5741

etv_cet@hotmail.com

Centre for Educational Technology

Building Sri-Ayudhaya st., Rajatavee distric Bangkok 10400, THAILAND

66 2354-5730-40 ext. 414-415

66 2354 5741

etv_cet@hotmail.com

©2018 etvthai.tv.All rights reserved