ข่าวการศึกษา

กฎหมายคือปัญหาสร้างความเหลื่อมล้ำโรงเรียนรัฐ-เอกชน


    

          โรงเรียนเอกชนโอดรัฐดูแลไม่เท่าเทียม เสียเปรียบโรงเรียนของรัฐ ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เรียกร้องรัฐดูแลอย่างเท่าเทียม

          สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา มีการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ซึ่ง ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระฯ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศึกษาแนวทางการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการจัดการศึกษา ได้มีการรวบรวมข้อมูล ปัญหา อุปสรรค การดำเนินการจัดการศึกษาของสถานศึกษาเอกชน และ โรงเรียนนานาชาติ โดยดูประวัติศาสตร์ที่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาตั้งแต่แรก  กระทั่งรัฐเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และพัฒนามาถึงรัฐเข้ามาควบคุมกำกับมากกว่าส่งเสริมสนับสนุน  โดยปัญหาสำคัญที่พบ คือ เรื่องการแข่งขันของโรงเรียนรัฐกับเอกชน ที่เอกชนมีกฎข้อบังคับกำกับมากกว่าทำให้เกิดการเสียเปรียบ จึงมีการเรียกร้องให้รัฐจัดการสนับสนุนโรงเรียนเอกชนอย่างเท่าเทียมกับโรงเรียนของรัฐทุกด้าน  เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น

           “ยอมรับว่าข้อเรียกร้องบางอย่างก็สมเหตุสมผล แต่บางอย่างอาจจะมากเกินไป ซึ่งก็ต้องมาพิจารณาตามความเหมาะสม  ขณะเดียวกันรัฐก็ต้องกำหนดบทบาทให้ชัดเจนว่า จะส่งเสริมเอกชนให้มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการและการให้บริการการศึกษาอย่างไร โดยต้องลดกระบวนการกำกับควบคุมลง  เพื่อให้การจัดการศึกษาในอนาคตมีคุณภาพมากขึ้น”ศ.นพ.จรัสกล่าว

          รศ.ดร.ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคณะกรรมการอิสระฯ กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูล พบว่า กฎหมายคือปัญหาแรกที่ทำให้เกิดผลกระทบกับการจัดการศึกษาของเอกชน  เพราะมีลักษณะเป็นการควบคุมมากกว่าส่งเสริมการจัดการศึกษา  จนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทั้งการจัดสรรทรัพยากรระหว่างโรงเรียนรัฐและเอกชน ระบบการพัฒนาครูที่ไม่เท่าเทียม เช่น กรณีคูปองพัฒนาครู 10,000 บาท ที่ยังไม่ถึงครูเอกชน สวัสดิการรักษาพยาบาลที่ครูเอกชนต้องอยู่ในระบบของกองทุนสงเคราะห์ จนทำให้เกิดข้อเรียกร้องเข้าระบบประกันสังคมแต่ยังเข้าไม่ได้เพราะครูเอกชนไม่ได้ขึ้นกับกฎหมายแรงงาน เป็นต้น หรือแม้แต่การที่โรงเรียนของรัฐมีการเปิดรับนักเรียนหลายรอบก็ทำให้เกิดผลกระทบกับโรงเรียนเอกชนเช่นกัน

          ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการหารือถึงแนวทางที่จะทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่ารัฐกับเอกชนด้วย  เนื่องจากที่ผ่านมาเอกชนที่เข้ามาจัดการศึกษาส่วนใหญ่เข้ามาโดยรัฐไปขอให้เข้ามา   ดังนั้นต่อไปก็ควรมีระบบที่ชัดเจนที่จะเปิดให้เอกชนเข้ามาช่วยจัดการศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เปลี่ยนไปตามนโยบายของรัฐที่มีการเปลี่ยนแปลง  และเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาช่วยจัดการศึกษาในหลายรูปแบบทั้ง การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยด้วย...

























...เดลินิวส์

ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา

อาคารศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กทม. 10400

0 2354 5730-40 ต่อ 414-415

0 2354 5741

etv_cet@hotmail.com

Centre for Educational Technology

Building Sri-Ayudhaya st., Rajatavee distric Bangkok 10400, THAILAND

66 2354-5730-40 ext. 414-415

66 2354 5741

etv_cet@hotmail.com

©2018 etvthai.tv.All rights reserved