ข่าวการศึกษา

แนะวิธีแก้ปัญหาเด็กอ่าน-เขียนภาษาไทยไม่ได้


    

          ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สพป.กทม. เผยเคล็ดไม่ลับแก้ปัญหาเด็กไทยอ่านภาษาไทยไม่ออก เขียนไม่ได้ ชี้รอยต่อช่วงอนุบาลขึ้นประถมศึกษาสำคัญที่สุดถ้าเด็กปรับตัวไม่ได้จะเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ในอนาคต

          จากการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาสถานศึกษาต้นแบบ เพื่อส่งเสริมการอ่านออกเขียนได้ สำหรับเสริมสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพ (Health literacy) ในช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-ป.3) ภายใต้การบูรณาการร่วมกับเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เพื่อการสร้างสุขภาวะในโรงเรียน ในประเด็นการอ่านออกเขียนได้สำหรับเสริมสร้างความรู้ทางสุขภาพ ซึ่งจัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ที่ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้ นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว ของ สสส. กล่าวถึงสถานการณ์การอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ปี 2555 ว่า เด็ก ป.1 อ่านไม่ออก 5.71 % เขียนไม่ได้ 7.63 % ซึ่งปัญหานี้จะส่งผลถึงความสามารถและทักษะของเด็กเมื่อโตขึ้นได้ ทั้งความสามารถด้านการเรียนรู้ ความฉลาด/ความรอบรู้ทางสุขภาพ (Health literacy) 
 
          ดร.วิภา ตัณฑุลพงษ์ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สิ่งที่เป็นปัญหาและส่งผลต่อการใช้ภาษาไทยในปัจจุบันซึ่งต้องเร่งแก้ไข 5 ปัญหา ได้แก่ 1.ความหลากหลายของภาษาที่ใช้ในประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 70 ภาษา ส่งผลต่อการเรียนการสอนภาษาไทย 2.กระแสความเจริญของเทคโนโลยีการสื่อสาร ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ด้านอื่น ๆ ทำให้ละเลยการเรียนภาษาไทย 3. เด็กจำนวนหนึ่งอยู่ในครอบครัวยากจนขาดโอกาสไปโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขาดการฝึกฝนการอ่านและเขียน 4. ผู้สอนภาษาไทยบางส่วนขาดองค์ความรู้และวิธีสอนภาษาไทย และ 5.นักเรียนอ่านเขียนภาษาไทยไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของหลักสูตรและความเหมาะสมตามช่วงวัย  
 
          “การสอนภาษาไทยให้ได้ผลจะต้องใช้รูปแบบและวิธีสอนที่หลากหลาย มีการผสมผสานทั้งการแจกลูกสะกดคำ สอนโดยวิธีมุ่งเสริมสร้างประสบการณ์หรือวิธีการใดๆ ที่ทำให้นักเรียนวัยเริ่มเรียน โดยเฉพาะชั้น ป.1-3 อ่านออก เขียนได้ และต้องสอนจากง่ายไปหายาก พร้อมทั้งส่งเสริมการเขียน และคัดลายมือ โดยเฉพาะชั้น ป.1 ส่วนชั้นอื่น ๆ นอกจากคัดลายมือแล้วต้องส่งเสริมการเขียนเรียงความ ย่อความและสรุปความ สำหรับทักษะการอ่านที่ครูต้องสอน คือ การอ่านคำและรู้ความหมายของคำ การอ่านจับใจความ การอ่านออกเสียงให้ชัดเจน การอ่านเพื่อศึกษาหาความรู้ การฝึกให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน และการอ่านเพื่อให้คุณค่าและเกิดความซาบซึ้ง โดยประเด็นปัญหาสำคัญจงหยุดเข้าใจว่าปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เป็นหน้าที่ของครูภาษาไทยเท่านั้น แต่ครูทุกคนต้องเป็นต้นแบบการสอนและใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง และครูทุกวิชาต้องสอนภาษาไทยแบบแจกลูกสะกดคำได้ทุกคน”ดร.วิภากล่าวและว่า เด็กทุกคนต้องเผชิญกับรอยเชื่อม 3 ระยะ คือ 1.รอยเชื่อมต่อระหว่างบ้านและสถานรับเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียนอนุบาล 2.รอยเชื่อมต่อระหว่างชั้นเรียนอนุบาลและประถมศึกษา และ3.รอยเชื่อมต่อระหว่างชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา รอยเชื่อมต่อที่สำคัญที่สุดคือ ระยะที่ 2 ระหว่างชั้นอนุบาลและประถมศึกษา ซึ่งจะต้องมีการเตรียมความพร้อมเด็กในช่วงรอยต่อนี้ โดยต้องได้รับความร่วมมือจากครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมถึงบุคลากรอื่นที่เกี่ยวข้อง เพราะหากเด็กสามารถปรับตัวได้ในช่วงนี้  จะทำให้เด็กสามารถเรียนรู้และมีพัฒนาการที่ก้าวหน้า แต่ในทางตรงกันข้ามหากเด็กปรับตัวไม่ได้อาจเป็นอุปสรรคประการสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กได้เช่นกัน...

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

...เดลินิวส์

ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา

อาคารศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กทม. 10400

0 2354 5730-40 ต่อ 414-415

0 2354 5741

etv_cet@hotmail.com

Centre for Educational Technology

Building Sri-Ayudhaya st., Rajatavee distric Bangkok 10400, THAILAND

66 2354-5730-40 ext. 414-415

66 2354 5741

etv_cet@hotmail.com

©2018 etvthai.tv.All rights reserved