ข่าวการศึกษา

แนะปลดล็อกเด็กช้างเผือกพัฒนาประเทศไทย 4.0


    

          สสค.ชี้ประเทศไทย 4.0 ต้องปลดล็อกกลุ่มเด็กช้างเผือก ที่ยากจนให้ได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพ พร้อมพัฒนาทุกโรงเรียนให้มีคุณภาพ ขจัดปัญหาแป๊ะเจี้ย ด้านนักเศรษฐศาสตร์เสนอยุบรวบโรงเรียนขนาดเล็ก แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

          สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับธนาคารโลกจัดแถลงข่าวเรื่อง ถอดรหัสเด็กช้างเผือกไทย Resilient Student ข้อค้นพบใหม่จากคะแนน PISA 2015 เด็กด้อยโอกาส-ยากจน คะแนนวิทย์-คณิต-การอ่าน เฉลี่ยสูงระดับโลก สู่ทางลัดเพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กไทย โดย ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค นักวิจัยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จากกาวิเคราะห์เชิงลึกคะแนนสอบ PISA 2015 ซึ่งประเมินทักษะด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ การอ่าน ของกลุ่มเด็กอายุ 15 ปีทั่วโลก จำนวน 509,053 คนจาก 73 ประเทศ มีนักเรียนไทยเข้าสอบ 8,249 คน  พบว่า เด็กไทยที่มีฐานะยากจนที่สุด 25% ของประเทศ หรือเด็กกลุ่มช้างเผือกสามารถทำคะแนนสอบได้อยู่ในกลุ่ม 25% สูงสุดของโลก ซึ่งหากวิเคราะห์เฉพาะทักษะด้านวิทยาศาสตร์ พบว่า เด็กช้างเผือกมีความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์มากกว่าเพื่อนนักเรียนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมระดับเดียวกัน  3 ปีครึ่ง และมากกว่านักเรียนกลุ่มเฉลี่ยของประเทศเกือบ 3 ปี และมากกว่านักเรียนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูง ถึง 1 ปี อีกทั้งยังเป็นเด็กที่มีความสนใจและมีความสุขในการเรียนมากกว่าเด็กกลุ่มอื่น ใช้เวลาในห้องเรียนอย่างเต็มที่มากกว่าการติวหรือเรียนพิเศษ ขณะที่ครูผู้สอนก็มีบทบาทสูงในการส่งเสริมให้เด็กช้างเผือกก้าวข้ามขีดจำกัดของตนเอง ทั้งประยุกต์การสอน สอนให้เด็กรู้จักตั้งคำถาม ให้คำแนะนำ กำลังใจ เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องของเด็ก อย่างไรก็ตามพบว่า เด็กช้างเผือกมีความคาดหวังน้อยต่ออาชีพในอนาคตของตนเองน้อย โดยเฉพาะอาชีพที่ใช้ทักษะขั้นสูง เช่น แพทย์ วิศวกร เป็นต้น เนื่องจากขาดแรงบันดาลใจ ขาดโอกาสศึกษาต่อ บางคนก็เข้าสู่ตลาดแรงงานระดับล่าง ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายและสร้างความเสียหายกับเศรษฐกิจ ที่เราต้องสูญเสียคนที่มีศักยภาพเหล่านี้ไป ดังนั้น อยากให้รัฐบาลเข้ามาดูแล โดยเฉพาะการจัดหาครูแนะแนวให้เพียงพอ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ
          
          ดร.ดิลกะ ลัทธิพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนามนุษย์ ธนาคารโลก กล่าวว่า จากการศึกษาของธนาคารโลก พบว่า ประเทศที่ร่ำรวย และมีรายได้สูงขึ้นต่อเนื่องไม่มีประเทศไหนที่ไม่ลงทุนเรื่องของการวิจัยและพัฒนาทรัพยกรมนุษย์ ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องลงทุนทั้งเรื่องการศึกษา วิจัยและพัฒนาทรัยากรมนุษย์ควบคู่กันไป เพื่อแรงงานไทยจะได้มีทักษะและศักยภาพสูงขึ้น เพื่อหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ไทยมีปัญหาทรัพยากรทางการศึกษาที่เหลื่อมล้ำกันสูงมาก ทั้งการขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอน และการขาดแคลนครูในโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งวิกฤติมาก ดังนั้น หากต้องการปลดล็อก เพื่อแก้ปัญหาระบบการศึกษาไทย ขอเสนอให้จัดสรรโครงสร้างโรงเรียนขนาดเล็กใหม่ โดยการยุบควบรวมโรงเรียนในระยะใกล้กันเพื่อจัดสรรทรัพยากรใหม่ ซึ่งจะช่วยให้มีอุปกรณ์การเรียนการสอนมากขึ้น มีครูครบชั้น และครบวิชา น่าจะเป็นทางออกที่ดีและทำได้ง่าย แต่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายทางการศึกษาของประเทศด้วย

          ด้าน ดร.ไกรยศ ภัทราวาส ผู้ช่วยผู้จัดการด้านการวิจัยและนโยบาย สสค.กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาคอขวด มีอัตราสัดส่วนประชากรที่มีทักษะขั้นสูงไม่เพียงพอ ดังนั้น ถ้าไทยจะบรรลุเป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 ให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูงในอีก 20 ข้างหน้า ก็ไม่สามารถปล่อยให้ประชากรแม้แต่คนเดียวเข้าสู่ระบบการศึกษาที่ไม่ได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพไม่ได้ โดยเฉพาะเด็กกลุ่มช้างเผือกที่สังคมและโรงเรียนต้องบ่มเพาะให้มีทัศนคติที่ถูกต้อง เพื่อให้สามารถเอาชนะอุปสรรคทางเศรษฐกิจและสังคมได้ โดย 5 ปีแรกไทยต้องตั้งเป้าปลดล็อกความเหลื่อมล้ำให้ได้ โดยทำให้ทุกโรงเรียนมีคุณภาพที่ดีเหมือนกันให้ได้ แล้วปัญหาแป๊ะเจี้ยก็จะหมดไป เพราะผู้ปกครองไม่ต้องแย่งให้ลูกเรียนโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่ง ขณะที่รัฐบาลเองก็กำลังพิจารณาให้มีกองทุนการศึกษา เพื่อผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เชื่อว่าจะทำให้เด็กยากจนช้างเผือกมีโอกาสได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพอย่างแท้จริง...























...เดลินิวส์

ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา

อาคารศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กทม. 10400

0 2354 5730-40 ต่อ 414-415

0 2354 5741

etv_cet@hotmail.com

Centre for Educational Technology

Building Sri-Ayudhaya st., Rajatavee distric Bangkok 10400, THAILAND

66 2354-5730-40 ext. 414-415

66 2354 5741

etv_cet@hotmail.com

©2018 etvthai.tv.All rights reserved