ข่าวการศึกษา

ศธ. จัดแถลงแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560 - 2579


    

          กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุมแถลงเรื่อง "แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579" ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์ บอลรูม อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี เพื่อเผยแพร่แผนการศึกษาแห่งชาติต่อสาธารณชน โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิด และปาฐกถาพิเศษเรื่อง แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 กับการขับเคลื่อนสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมรับฟังปาฐกถาพิเศษครั้งนี้ พร้อมทั้งนำเยี่ยมชมนิทรรศการความก้าวหน้าการจัดการศึกษา

          พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในพิธีเปิดตอนหนึ่งเกี่ยวกับการแถลง “แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579” ว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการได้พยายามที่จะขับเคลื่อนงานให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น การผลิตและพัฒนาครู พัฒนาหลักสูตร การจัดกิจกรรมให้เด็กมีความสุขในการเรียน เช่น การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการศึกษา ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2560 ที่ได้จัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติเสร็จสมบูรณ์และผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว จึงเป็นอีกปีที่มีความสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษา โดยนำแผนการศึกษาแห่งชาติซึ่งเป็นแผนเชิงยุทธศาสตร์ไปสู่การจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) เพื่อเป็นแนวทางในการเดินหน้าจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัย ตั้งแต่ระดับก่อนปฐมวัย ปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา จนถึงอุดมศึกษา และวัยทำงาน โดยจะทำงานแบบบูรณาการทั้งภายในกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ตลอดจนบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน เป็นต้น

          การแถลงแผนการศึกษาแห่งชาติครั้งนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี ในการที่จะมีแผนงานด้านการศึกษาที่มั่นคงชัดเจน และผ่านความเห็นชอบจากทุกฝ่ายแล้ว เพื่อร่วมกันก้าวไปข้างหน้า (To Step Forward) ให้บรรลุเป้าหมายตามที่วางไว้ ให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศได้สำเร็จ ซึ่งทุกคน ณ ที่นี้มีความสำคัญในการพลิกประวัติศาสตร์ของการปฏิรูปการศึกษาไทย เพื่อพัฒนากำลังคน พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อไปสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต จึงขอฝากให้ช่วยกันเฝ้าติดตามการทำงานของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งมั่นและตั้งใจเพื่อความมุ่งหวังให้การปฏิรูปการศึกษา ส่งผลสัมฤทธิ์ตอบโจทย์การเป็นไทยแลนด์ 4.0 อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป พร้อมทั้งขอขอบคุณผู้บริหาร คณะกรรมการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนในการร่วมจัดงานแถลงแผนการศึกษาแห่งชาติในครั้งนี้

          พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 กับการขับเคลื่อนสู่ไทยแลนด์ 4.0” โดยมีสาระสำคัญสรุป ดังนี้

แผนการศึกษาแห่งชาติเป็นหัวใจสำคัญเสมือน “ไบเบิ้ล” ในการทำงานร่วมกัน

          ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านการศึกษา ตลอดจนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานวิจัยของประเทศ ซึ่งการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ เหล่านี้ ช่วยให้เกิดความเข้าใจภาพของการสร้างคน พัฒนาคน เพื่อรองรับความต้องการกำลังคนในอนาคต ทั้งในสาขาวิชาชีพ สาขาวิชาการ และในสายงานต่าง ๆ ในด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งล้วนมีความสำคัญต่อการวางแผนงานและกำหนดทิศทาง รวมทั้งเป้าหมายการทำงานที่มีความชัดเจน ดังนั้น แผนการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ จึงเป็นเสมือน “ไบเบิ้ล” เป็นกรอบการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญ ที่ทุกภาคส่วนจะได้ใช้ในการสร้างคน สร้างองค์ความรู้ และสร้างเทคโนโลยีที่จะสามารถใช้ประโยชน์ให้ตรงความต้องการของประเทศชาติ และบรรลุเป้าหมายตามที่เราคาดหวังไว้

ปรับแผนการศึกษาแห่งชาติให้สอดคล้องและรองรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

          หากจะกล่าวถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ถือว่ามีจุดเน้นครอบคลุมทั้งด้านความมั่นคง ความสามารถในการแข่งขัน การสร้างศักยภาพของคน การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเสมอภาค เพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ ตลอดจนการคำนึงถึงความสมดุลในระบบสิ่งแวดล้อม ซึ่งแผนการศึกษาแห่งชาติ รวมทั้งยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้มีการปรับปรุงให้สอดคล้องและรองรับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แล้ว รวมทั้งการผลักดันประเทศไทยเดินหน้าไปสู่ Thailand 4.0 ก็เป็นอีกประเด็นสำคัญ ที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องนำมาพิจารณาเพื่อสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยี ให้รองรับกระแสเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอีก 10-15 ปีข้างหน้าด้วย

          เชื่อว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไปที่ทุกคนจะได้ร่วมมือร่วมใจกัน โดยมองจุดเน้นเดียวกันคือ ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง ตลอดจนสนับสนุนปัจจัยเสริมทั้งในเรื่องของครู ผู้บริหาร หลักสูตร สถานศึกษา การบริหารราชการ และทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเด็กได้เต็มตามศักยภาพแต่ละช่วงวัยอย่างละเอียดรอบคอบ ตั้งแต่ในครรภ์มารดาคือก่อนปฐมวัย จนกระทั่งระดับปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษา จนถึงระดับอุดมศึกษา หรือการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาสและผู้พลาดโอกาส การศึกษาสำหรับคนวัยทำงานก่อนจะมีอายุครบ 65 ปี และหลังวัยเกษียณอายุราชการหรือทำงาน

เน้นจัดการศึกษาครอบคลุมทุกช่วงวัยตามรัฐธรรมนูญ

          การดำเนินงานตามแผนการศึกษาแห่งชาติ เรียกได้ว่าเราจะต้องมองอย่างรอบด้าน เพื่อจัดการศึกษาให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายตลอดทุกช่วงวัย ซึ่งสอดคล้องกับที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า “รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการจะต้องจัดให้มีการศึกษาในภาคบังคับ 12 ปีโดยเริ่มตั้งแต่ระดับก่อนปฐมวัยคือ 3 ขวบเป็นต้นไป” ถือเป็นการดำเนินงานที่มีความละเอียดและมีความซับซ้อนมากขึ้น ตลอดจนมีหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก เช่น กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ระยะที่เด็กอยู่ในครรภ์มารดา เพื่อดูแลด้านสุขภาพ สุขภาวะ และอนามัย, กระทรวงมหาดไทย โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในเรื่องของการสร้างสุขภาพที่ดี สุขภาวะที่เหมาะสมต่อพัฒนาการ และเตรียมความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจในระดับก่อนปฐมวัย เน้นสร้างวินัยและเรียนรู้ที่มาที่ไปของชาติในลักษณะการเรียนการสอนแบบธรรมชาติ เพื่อส่งต่อเด็กเข้าสู่ระดับปฐมวัย

          ส่วนการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบดูแลจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งในระดับประถมศึกษาจะเน้นเนื้อหาทางด้านวิชาการที่มีความเข้มข้นและมีกิจกรรมการเรียนรู้สร้างเสริมทักษะมากขึ้น เช่น กิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เป็นต้น เพราะการที่เด็กจะมีทักษะมากขึ้นนั้น ต้องมีกระบวนการเรียนการสอนที่เป็นธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เด็กได้เริ่มรู้จักการแสดงออกทางความคิด ความสามารถ และความต้องการเรียนรู้ของตัวเอง

          จนเมื่อเข้าสู่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ที่เด็กจะต้องเริ่มมีความถนัดและความสนใจที่แตกต่างกันออกไป ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญในการเลือกเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่เราจะช่วยกันชี้แนะให้เด็กเลือกเรียนต่อในสายสามัญหรือสายวิชาชีพตามความถนัดของตนเอง โดยเฉพาะสายวิชาชีพที่จะต้องคำนึงถึงความสนใจของเด็กและความเหมาะสมที่จะเข้าสู่สาขาวิชาต่าง ๆ ด้วย รวมทั้งสาขาวิชาที่ตรงตามความต้องการของประเทศและการเดินหน้าสู่ Thailand 4.0 ที่ได้กำหนดเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรมใหม่ขึ้นมารองรับ ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ, การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารแห่งอนาคต, อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม, อุตสาหกรรมการบินและการขนส่งขนส่งและการบิน, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ, อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์ที่เราจะต้องสร้างคนรองรับงานในอนาคตให้ได้ โดยจะต้องมีการเตรียมการทั้งในเรื่องของหลักสูตร สถานศึกษา บุคลากร เครื่องมือและอุปกรณ์การเรียนการสอนในระดับอาชีวศึกษาในแต่ละสาขาวิชา

          ดังนั้น บุคลากรและคนในวงการศึกษา จะต้องมีวิจารณญาณที่ถูกต้อง มีความรู้และเข้าใจถึงเป้าหมายและความต้องการกำลังคนเพื่อพัฒนาประเทศ สิ่งสำคัญคือมีความเข้าใจในตัวเด็ก เพื่อชี้ทางสว่างให้เด็กเดินไปสู่เส้นทางนั้นได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ซึ่งจะเป็นการดำเนินงานส่วนที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาผู้เรียนตั้งแต่ระดับอาชีวศึกษาไปจนถึงระดับอุดมศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย ที่จัดโดยภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น เพื่อให้บรรลุตามแผนการศึกษาชาติในการสร้างกำลังคนให้กับประเทศตั้งแต่บัดนี้จนถึงอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า

6 ยุทธศาสตร์หลักในการทำงาน

          ยุทธศาสตร์หลักทั้ง 6 ด้านที่จะใช้ขับเคลื่อนการจัดการศึกษาของชาติ ได้กำหนดเป้าหมายความต้องการพื้นฐานไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ในแต่ละระดับ เช่น ในเด็กเล็กเน้นการอ่านและเขียนได้ การคำนวณ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นเป้าหมายในการจัดการเรียนรู้ของครู ที่จะต้องถ่ายทอดและบ่มเพาะให้กับเด็กอย่างต่อเนื่อง เพื่อสั่งสมให้เด็กมีพื้นฐานทางวิชาการ มีสมรรถนะ และความสามารถเพียงพอเหมาะสมตามเป้าหมายพื้นฐานตามที่กำหนด พร้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการสร้างเสริมให้เด็กมีทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงอยู่ในศตวรรษที่ 21 รวมทั้งการสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้สาขาวิชาเฉพาะด้าน เช่น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ฯลฯ ที่จะทำให้เกิดการพัฒนากระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ มีเหตุมีผล นำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้และการวิจัยใหม่ ๆ เพื่อเสริมทักษะการเรียนรู้ เพื่อการต่อยอดในวิชาชีพที่สนใจ ตลอดจนถึงการเกิดนวัตกรรมเชิงวิชาการและเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม

ผสานความร่วมมือ-เน้นฝึกปฏิบัติงานเพื่อสร้างกลุ่มนำขับเคลื่อนประเทศ

          ในการดำเนินงานที่มีความละเอียดและซับซ้อนมากขึ้น เชื่อว่าชาวกระทรวงศึกษาธิการทราบดีและมีประสบการณ์ด้านการศึกษาอย่างหลากหลายอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องอาศัยการบริหารจัดการที่ดี โดยเฉพาะการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์หลักทั้ง 6 ด้าน สิ่งสำคัญคือต้องมีความร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้นทั้งภายในกระทรวงศึกษาธิการและเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้านเสริมทักษะ สมรรถนะ และความเชี่ยวชาญของกำลังคนวัยทำงาน เป็นต้น นอกจากนี้จะมีการประสานการทำงานร่วมกันมากขึ้นแล้ว จะต้องมีการฝึกปฏิบัติงาน (On the job training) มากขึ้นด้วย เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายในการสร้างคนรองรับเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมในอนาคต จนสามารถก้าวขึ้นเป็นกลุ่มนำของประเทศ ในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้พ้นกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลางให้ได้

          ขอชื่นชมการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการในครั้งนี้ และขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยสานต่องานตามแผนการศึกษาแห่งชาติให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน ซึ่งแน่นอนว่าในระหว่างการทำงานย่อมพบอุปสรรค ทำให้หนทางไปสู่เป้าหมายไม่สวยหรูดังที่คาดหวังไว้ อาทิ ความพร้อมของสถานศึกษา ความถนัดและทักษะของครูในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ ตลอดจนถึงอาคารสถานที่และทรัพยากรต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นแก้ไขได้โดยงบประมาณหรือการบริหารของกระทรวงศึกษาธิการเอง การเชื่อมโยงกับภาคเอกชนเข้ามาร่วมมีส่วนร่วม ตามนโยบายประชารัฐของรัฐบาล หรือแม้กระทั่งการเชื่อมโยงกับระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ไม่ว่าจะแก้ไขด้วยวิธีการใดก็ขอให้ดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อผลักดันการทำงานตามแผนการศึกษาแห่งชาติให้บรรลุเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

          นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวรายงานในพิธีเปิดครั้งนี้ด้วยว่า สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา มีภารกิจหลักในการจัดทำนโยบายและแผนการศึกษาของชาติ ที่บูรณาการศาสนา ศิลปวัฒนธรรม กีฬา กับการศึกษาทุกระดับทุกประเภท และได้จัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 เป็นแผนระยะยาว 20 ปี เพื่อเป็นแผนแม่บทสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำไปใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาการศึกษาแทนแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับเดิม ซึ่งสิ้นสุดในปี 2559 ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

          การจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ ดำเนินการให้มีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs 2030) ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ตลอดจนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับ 12 ปี 2560-2564 และยุทธศาสตร์ชาติประเทศไทย 4.0 พร้อมทั้งยังได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดความครอบคลุมและเป็นที่ยอมรับของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          กระทรวงศึกษาธิการ ได้นำแผนการศึกษาแห่งชาติดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2560 ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้เป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาการศึกษาในช่วงระยะเวลาดังกล่าว รวมทั้งสร้างความเข้าใจให้แก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จึงจัดให้มีการประชุมแถลง เรื่อง "แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579" ในส่วนกลางในครั้งนี้ และเตรียมจัดในส่วนภูมิภาคอีก 4 แห่ง ได้แก่ ภูเก็ต ระยอง มหาสารคาม เชียงราย เพื่อเปิดตัวและนำเสนอแผนการศึกษาแห่งชาติต่อสาธารณชน ให้เกิดการรับรู้และความเข้าใจ สามารถนำแผนการศึกษาแห่งชาติไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ในการประชุมแถลง ยังจัดให้มีนิทรรศการเกี่ยวกับสาระของแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 และตัวอย่างการจัดการศึกษาและการเรียนรู้ที่มีการปฏิบัติงานเป็นเลิศของหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด, โรงเรียนดิจิทัล โดยโรงเรียนสตรีวิทยา, การบำรุงอากาศยาน โดยวิทยาลัยเทคนิคถลาง, Talent Mobility โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โรงเรียนสูงอายุ โดยเทศบาลตำบลหนองสาน อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี

          นอกจากนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงสรุปสาระสำคัญของแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 ดังนี้

          แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 ดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ : คนไทยทุกคนได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ ดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการเปลี่ยนแปลงของโลกศตวรรษที่ 21

วัตถุประสงค์
1) เพื่อพัฒนาระบบและกระบวนการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ
2) เพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นพลเมืองดี มีคุณลักษณะ ทักษะ และสมรรถนะที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และยุทธศาสตร์ชาติ
3) เพื่อพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และมีคุณธรรม จริยธรรม รู้รักสามัคคี และร่วมมือผนึกกำลังมุ่งสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
4) เพื่อนำประเทศก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และความเหลื่อมล้ำภายในประเทศลดลง

เป้าหมาย
- เป้าหมายด้านผู้เรียน โดยมุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคนให้มีคุณลักษณะและทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย 3Rs คือ การอ่านออก (Reading), การเขียนได้ (Writing), การคิดเลขเป็น (Arithenmatics) และ 8Cs คือ ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณและทักษะในการแก้ปัญหา (Critical Thinking and Problem Solving), ทักษะด้านการสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creativity and Innovation), ทักษะด้านความเข้าใจต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์ (Cross-cultural Understanding), ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ (Collaboration, Teamwork and Leadership), ทักษะด้านการสื่อสาร สารสนเทศ และการรู้เท่าทันสื่อ (Communications, Information and Media Literacy), ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Computing and ICT Literacy), ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้ (Career and Learning Skills), ความมีเมตตา กรุณา มีวินัย คุณธรรม จริยธรรม (Compassion)
- เป้าหมายของการจัดการศึกษา 5 ด้าน ได้แก่ ประชากรทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐานอย่างทั่วถึง, ผู้เรียนทุกกลุ่มได้รับบริการทางการศึกษาอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม, ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ สามารถพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุขีดความสามารถและเต็มตามศักยภาพ, ระบบการบริหารจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อการพัฒนาผู้เรียนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ และการลงทุนทางการศึกษาที่คุ้มค่าและบรรลุเป้าหมาย, ระบบการศึกษาที่สนองตอบและก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เป็นพลวัตและบริบทที่เปลี่ยนแปลง

ยุทธศาสตร์หลักในการดำเนินงาน 6 ด้าน

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคนทุกช่วงวัยให้มีความรักในสถาบันหลักของชาติ และยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตลอดจนให้ได้รับการศึกษา การดูแล และป้องกันจากภัยคุกคามในชีวิตรูปแบบใหม่ และดำเนินการให้คนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่พิเศษ ได้รับการศึกษาและเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ
- แผนงานและโครงการสำคัญเร่งด่วน อาทิ โครงการสร้างจิตสำนึกความรักในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์, โครงการส่งเสริมประชาธิปไตยในสถานศึกษา, โครงการยกระดับคุณภาพการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่พิเศษ
- แผนงานและโครงการตามเป้าหมาย ตัวชี้วัด อาทิ โครงการส่งเสริมและพัฒนาทักษะการอ่านและเขียนภาษาไทยในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่พิเศษ, โครงการศึกษากระบวนการเรียนรู้และปลูกฝังแนวทางการจัดการความขัดแย้งโดยแนวทางสันติวิธี, โครงการสร้างเสริมความรู้และทักษะความเป็นพลเมือง (Civic Education), โครงการส่งเสริมกิจกรรมการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การผลิตและพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรม เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนากำลังคนให้มีทักษะที่สำคัญจำเป็นและมีสมรรถนะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่จัดการศึกษา ผลิตบัณฑิตที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นเลิศเฉพาะด้าน ตลอดจนมีการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สร้างผลผลิตและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ
- แผนงานและโครงการสำคัญเร่งด่วน อาทิ โครงการประชารัฐเพื่อการผลิตและพัฒนากำลังคนตามความต้องการของตลาดงานและประเทศ, โครงการยกระดับทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของผู้เรียนและประชาชน, แผนงานพัฒนากำลังคนให้มีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นในโลกศตวรรษที่ 21, โครงการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติสู่การปฏิบัติ
- แผนงานและโครงการตามเป้าหมาย ตัวชี้วัด อาทิ โครงการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาให้เป็นสถาบันวิจัยที่ตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาองค์ความรู้ การสร้างนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจฯ, โครงการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในสาขาวิชีพที่จำเป็นและตรงตามความต้องการของประเทศ เข้ามาช่วยจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษา สถาบันอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา, โครงการเสริมสร้างและพัฒนาความรู้ความเข้าใจสำหรับบัณฑิตจบใหม่ด้านนวัตกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัล, โครงการออกแบบระบบงานและเส้นทางความก้าวหน้าของบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัย รวมทั้งผู้มีความสามารถพิเศษ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาศักยภาพคนทุกช่วงวัย และการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะและคุณลักษณะพื้นฐานของพลเมืองไทย และทักษะและคุณลักษณะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21, พัฒนาคนทุกช่วยวัยให้มีทักษะ ความรู้ความสามารถ และสมรรถนะตามมาตรฐานการศึกษาและมาตรฐานวิชาชีพ และพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ตามศักยภาพ, สถานศึกษาทุกระดับการศึกษาสามารถจัดกิจกรรม กระบวนการเรียนรู้ตามหลักสูตรได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน, มีแหล่งเรียนรู้ สื่อตำราเรียน นวัตกรรม และสื่อการเรียนรู้ ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน และประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่, มีระบบและกลไกการวัด การติดตาม และประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ, มีระบบการผลิตครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาได้มาตรฐานระดับสากล และครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาได้รับการพัฒนาสมรรถนะตามมาตรฐาน
- แผนงานและโครงการสำคัญเร่งด่วน อาทิ โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น, โครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้, แผนงานส่งเสริมการจัดการศึกษาปฐมวัย, แผนงานยกระดับคุณภาพมาตรฐานวิชาชีพครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาตามมาตรฐานวิชาชีพ
- แผนงานและโครงการตามเป้าหมาย ตัวชี้วัด อาทิ โครงการสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลและพัฒนาเด็กเล็ก, โครงการส่งเสริมสนับสนุนการผลิตสื่อ ตำรา สิ่งพิมพ์ สื่อวีดิทัศน์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ผ่านการรับรองมาตรฐาน, โครงการจัดทำคลังข้อสอบเพื่อการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ ด้านทักษะ ความรู้ความสามารถ และสมรรถนะ ตามมาตรฐานหลักสูตร มาตรฐานอาชีพและวิชาชีพ, โครงการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษา มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เรียนทุกคนได้รับโอกาสและความเสมอภาคในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ, เพิ่มโอกาสทางการศึกษาผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษาสำหรับคนทุกช่วงวัย และมีระบบข้อมูลรายบุคคลและสารสนเทศทางการศึกษาที่ครอบคลุม ถูกต้องเป็นปัจจุบัน เพื่อการวางแผน การบริหารจัดการ การติดตาม ประเมิน และรายงานผล
- แผนงานและโครงการสำคัญเร่งด่วน อาทิ โครงการยกระดับมาตรฐานการจัดการศึกษาของโรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือและพัฒนาเป็นพิเศษอย่างเร่งด่วน (ICU), โครงการเติมเต็มความรู้ผ่านสื่อเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล (DLTV, DLIT) สื่อทีวีสาธารณะ และช่องทางต่าง ๆ, โครงการพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา การจัดการเรียนการสอน และการเรียนรู้ตลอดชีวิต, โครงการจัดทำฐานข้อมูลรายบุคคลทุกช่วงวัย ทั้งด้านสาธารณสุข สังคม ภูมิสารสนเทศ แรงงาน และการศึกษา
- แผนงานและโครงการตามเป้าหมาย ตัวชี้วัด อาทิ โครงการจัดหาเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก สื่ออุปกรณ์และการบริการ ที่สอดคล้องกับความต้องการจำเป็นเฉพาะบุคคล, โครงการจัดฝึกอบรมหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการในระดับอุดมศึกษา, โครงการจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาและกองทุนพัฒนาพื้นฐานด้านระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา, โครงการจัดให้มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ, โครงการจัดทำคู่มือการบันทึกและใช้ข้อมูลสารสนเทศ ผ่านระบบเทคโนโลยีดิจิทัล

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การจัดการศึกษาเพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายเพื่อให้คนทุกช่วงวัย มีจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม มีคุณธรรม จริยธรรม และนำแนวคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ, มีหลักสูตร แหล่งเรียนรู้ และสื่อการเรียนรู้ ที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คุณธรรมจริยธรรม และการนำแนวคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ และการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- แผนงานและโครงการสำคัญเร่งด่วน อาทิ โครงการน้อมนำศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาและเพิ่มศักยภาพคนทุกช่วงวัย, โครงการโรงเรียนคุณธรรม, โครงการโรงเรียนสีเขียว, โครงการรักษ์โลก รักษ์พลังงาน
- แผนงานและโครงการตามเป้าหมาย ตัวชี้วัด อาทิ แผนงานและโครงการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาและการให้ความรู้ ทักษะ และทัศนคติกับคนทุกช่วงวัย ในเรื่องการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, แผนงานและโครงการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และการนำแนวคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ, โครงการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, โครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร

ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการศึกษา มีเป้าหมายเพื่อให้โครงสร้าง บทบาท และระบบการบริหารจัดการศึกษามีความคล่องตัว ชัดเจน และสามารถตรวจสอบได้, ระบบการบริหารจัดการศึกษามีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ส่งผลต่อคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา, ทุกภาคส่วนของสังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนและพื้นที่, มีกฎหมายและรูปแบบบริหารจัดการทรัพยากรทางการศึกษารองรับลักษณะที่แตกต่างกันของผู้เรียน สถานศึกษา และความต้องการกำลังแรงงานของประเทศ และมีระบบบริหารงานบุคคลของครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ที่มีความเป็นธรรม สร้างขวัญกำลังใจ และส่งเสริมให้ปฏิบัติงานได้อย่างเต็มตามศักยภาพ
- แผนงานและโครงการสำคัญเร่งด่วน อาทิ แผนงานเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา, โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก, โครงการพัฒนาระบบจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษา, โครงการทดลองนำร่องระบบการจัดสรรเงินผ่านด้านอุปสงค์และด้านอุปทาน
- แผนงานและโครงการตามเป้าหมาย ตัวชี้วัด อาทิ โครงการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาและการประเมินประสิทธิภาพการจัดการศึกษาของสถานศึกษาทุกระดับและทุกประเภท, โครงการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างและระบบการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และสถานศึกษา, โครงการส่งเสริมและสนับสนุนเครือข่ายการศึกษา ในการจัดการศึกษาในพื้นที่, โครงการพัฒนาระบบการเงินเพื่อการศึกษาสำหรับการศึกษาเอกชน, โครงการพัฒนาระบบการติดตามและประเมินประสิทธิภาพการจัดสรรและใช้งบประมาณเพื่อการศึกษา

          นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า แผนการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ค่อนข้างมีความสมบูรณ์ และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีกิจกรรมโครงการที่จะรองรับการทำงานครอบคลุมทั้ง 6 ยุทธศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น การจัดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของสังคมและประเทศชาติ ที่ครอบคลุมสถาบันหลักคือชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ การยกระดับคุณภาพและส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่พิเศษ ตลอดจนจัดระบบดูแลและป้องกันภัยคุกคามจากยาเสพติด ภัยพิบัติธรรมชาติ โรคอุบัติใหม่ และภัยจากไซเบอร์, ส่วนการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เน้นการยกระดับทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของผู้เรียนและประชาชน การลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มุ่งผลิตผู้สำเร็จการศึกษาและบัณฑิตที่มีคุณภาพ พัฒนาฝีมือแรงงานระดับสูงและมีความเชี่ยวชาญในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ

          ในขณะเดียวกันก็จะดำเนินการโครงการต่าง ๆ เพื่อสร้างโอกาสความเสมอภาคและการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาให้กับผู้เรียนทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ และทุกระดับการศึกษา ตลอดจนตอบสนองความต้องการของผู้เรียน ชุมชน สังคม และประเทศชาติครอบคลุมทุกรูปแบบทุกช่องทาง โดยจะไม่ละเลยในการที่จะเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัว พร้อมปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ทัศนคติ ค่านิยม วัฒนธรรมของคนทุกช่วงวัย อาทิ โครงการน้อมนำศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาและเพิ่มศักยภาพคนทุกช่วงวัย โครงการโรงเรียนคุณธรรม เป็นต้น และสิ่งสำคัญคือการปฏิรูประบบบริหารจัดการภาครัฐ ที่จะมีการปรับระบบการทำงานทั้งการประกันคุณภาพการศึกษา การทดลองระบบจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษา ตลอดจนปรับโครงสร้างการบริหารงานส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และสถานศึกษาให้มีความคล่องตัวมากขึ้น

          เมื่อมีแผนการศึกษาของชาติที่เดินตามยุทธศาสตร์ชาติแล้ว ต่อจากนี้กระทรวงศึกษาธิการจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งจัดทำแผนปฏิบัติการที่จะนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ตามตัวชี้วัดการจัดการศึกษาไทยในแต่ละระดับควบคู่กับการมีหน่วยงานภายนอกเข้ามาดูแลระบบการประกันคุณภาพการศึกษาให้มีความถูกต้อง โดยมีสาระสำคัญสรุปดังนี้

ระดับปฐมวัย มีตัวชี้วัดคือ อัตราการเข้าเรียน
ระดับประถมศึกษา-มัธยมศึกษา มีตัวชี้วัดคือ การเข้ารับการศึกษาอย่างทั่วถึง การมีโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม การพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพ และการจัดการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ
ระดับอาชีวศึกษา มีตัวชี้วัดคือ อัตราการเข้าเรียน อัตราการเรียนจบ อัตราการได้งานทำหลังจากจบการศึกษาภายใน 6 เดือน และความพึงพอใจของผู้จ้างงาน
ระดับอุดมศึกษา มีตัวชี้วัดคือ อัตราการเข้าเรียน อัตราการเรียนจบ อัตราการได้งานทำหลังจากจบการศึกษาภายใน 6 เดือน อัตราการได้งานทำตรงกับสาขาที่เรียนจบ และความพึงพอใจของผู้จ้างงาน
ระดับมหาวิทยาลัย - มหาวิทยาลัยราชภัฎ มีตัวชี้วัดคือ อัตราการเข้าเรียนของนักเรียนในท้องที่ อัตราการได้งานทำหลังจากจบการศึกษาภายใน 6 เดือน อัตราการได้งานทำตรงกับสาขาที่เรียนจบ อัตราการได้งานทำในภูมิลำเนาของตน และความพึงพอใจของผู้จ้างงาน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

...ทรูปลูกปัญญา

naltrexone wiki naltrexone and multiple sclerosis naltrexone for alcohol
benefits of naltrexone avonotakaronetwork.co.nz ldn drug
naltrexone half life charamin.com low dose naltrexone pregnancy
naltrexone half life charamin.com low dose naltrexone pregnancy
naltroxone vivitrol alcohol treatment who can prescribe naltrexone
naltroxone open who can prescribe naltrexone
side effects of naltrexone implant ldn for autism lose dose naltrexone

ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา

อาคารศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กทม. 10400

0 2354 5730-40 ต่อ 414-415

0 2354 5741

etv_cet@hotmail.com

Centre for Educational Technology

Building Sri-Ayudhaya st., Rajatavee distric Bangkok 10400, THAILAND

66 2354-5730-40 ext. 414-415

66 2354 5741

etv_cet@hotmail.com

©2018 etvthai.tv.All rights reserved