รายการแนะนำ

ภารกิจหิ่งห้อยกะพริบแสง 'เด็กแม่เหลอ..กับโอกาส' สว่างในใจ..ทั้ง 'ผู้ให้-ผู้รับ'


          “ถ้าไม่ตั้งใจมา...ก็คงมาไม่ถึงหรอกครับ” ...เสียงของ ครูจรัส หรือ ด.ต.จรัส เลิศวิลัย ครูใหญ่ประจำ ศูนย์การเรียนรู้ตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแม่เหลอ (ศกร.ตชด.บ้านแม่เหลอ) ต.เสาหิน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ฉายภาพการเดินทางเข้าสู่พื้นที่นี้ เพราะแม้จะตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองของ อ.แม่สะเรียงเพียงกว่า 80 กิโลเมตร แต่จากสภาพถนนที่ใช้เดินทางเข้ามา จึงทำให้การเดินทางในการเข้าสู่พื้นที่ดังกล่าวนี้ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นไปโดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม แม้เส้นทางเข้าสู่ โรงเรียนเล็ก ๆ ในพื้นที่ชายขอบ แห่งนี้จะทุรกันดารยากลำบากสักแค่ไหน แต่ก็ยังมีกลุ่มคนใจดีที่เข้ามาหยิบยื่นน้ำใจและ มอบโอกาสในชีวิตให้กับเด็กนักเรียน และคุณครูที่นี่ ในชื่อ “กลุ่มจิตอาสาโครงการหิ่งห้อย” ซึ่ง “ทีมวิถีชีวิต” ได้มีโอกาสติดตามเข้าไปยังพื้นที่ดังกล่าวเมื่อราวกลางเดือน ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา และมีเรื่องราวของกลุ่มคนใจดีกลุ่มนี้มานำเสนอ

          การเดินทางเริ่มต้นออกจากเมืองเชียงใหม่ในเวลาเช้า แต่กว่าจะเดินทางเข้าถึง บ้านแม่เหลอ ได้ก็เป็นเวลาย่ำค่ำแล้ว ซึ่งตลอดเส้นทางนั้น รถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อ หรือรถโฟร์วีล ต้องวิ่งลัดเลาะผ่านไหล่เขาสูงชันมาตลอด จนเมื่อได้ยินเสียงล้อรถวิ่งกระทบผืนน้ำดังซู่ ๆ ท่ามกลางความมืดมิด พลขับก็แจ้งว่า พอผ่านลำธารบ้านแม่เจ อีกไม่นานก็จะถึงบ้านแม่เหลอจุดหมายในครั้งนี้แล้ว

          เช้าวันรุ่งขึ้น ตื่นมาจัดเตรียมสถานที่สำหรับใช้ในพิธีส่งมอบโครงการให้กับทางโรงเรียน ได้พบกับธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ ซีเคพี หรือ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) จึงได้สอบถามถึง “จุดเริ่มต้น” ของกิจกรรมนี้

          “ไม่มีอะไรมากครับ แค่รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เราทำได้ และควรที่จะ ทำเท่านั้นเอง” ...เป็นการระบุจาก ธนวัฒน์ ถึงที่มา “โครงการหิ่งห้อย” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 แล้ว โดยได้เล่าฟังว่า ในปีแรกโครงการได้ สร้างอาคารเรียนพลังงานแสงอาทิตย์ และกังหันน้ำผลิตไฟฟ้าให้กับชุมชน บ้านปู่คำน้อย และบ้านแม่ปะกลาง อ.สบเมย จ.แม่ฮ่อง สอน ส่วนปีนี้หลังจากทางทีมงานได้เข้ามาสำรวจก็ได้เลือก โรงเรียนบ้านแม่เหลอ แห่งนี้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรม ทั้งนี้ นอกจากจะเป็นผู้สนับสนุนแล้ว ธนวัฒน์ ยังได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในทีมจิตอาสาของโครงการด้วย โดยตัวเขาเองก็ได้เข้าร่วมทำงานกับพนักงานของบริษัทฯ ในภารกิจต่าง ๆ หลายครั้ง ซึ่งเขาบอกว่า สนุก และได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ หลายอย่าง ที่ถือเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ล้ำค่ามาก พร้อมกับเล่าอีกว่า โครงการนี้เริ่มจากการที่บริษัทฯอยากจะทำกิจกรรมเพื่อสังคม ด้วยการนำความรู้ด้านวิศวกรรมพลังงานสีเขียวที่บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญ มาแก้ปัญหาให้ชุมชนห่างไกล ที่ไม่ใช่แค่การเดินทางเพื่อไปแจกของ แต่ต้องเป็นการพัฒนาที่เกิดจากความต้องการของชาวบ้านและชุมชนเป็นหลัก เพื่อให้เกิดความยั่งยืนมากที่สุด เหตุนี้จึงเป็นที่มาของโครงการหิ่งห้อยที่ว่านี้

          ธนวัฒน์ ได้บอกอีกว่า นอกจากการทำประโยชน์ให้สังคมผ่านความรู้ที่องค์กรมีแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดที่อยากจะให้เกิดขึ้นจากกิจกรรมนี้ก็คือ ทำให้พนักงานทุกคนเกิดจุดมุ่งหมายในชีวิตเพิ่มขึ้น ที่ไม่ใช่เรื่องของการสร้างความมั่นคง การสร้างรายได้ให้ชีวิตเพียงอย่างเดียว แต่อยากจะให้ทุกคนได้เรียนรู้บทบาทในฐานะ “ผู้ให้” ด้วย

          ทางด้าน ปองคุณ สีมาแก้ว ในฐานะหัวหน้าโครงการหิ่งห้อย เสริมว่า กิจกรรมนี้เป็นความตั้งใจของผู้บริหารที่อยากนำความรู้เรื่องวิศวกรรมมาช่วยชุมชน โดยมีโจทย์ว่าจะต้องเป็นสิ่งที่ชาวบ้านต้องการจริง ๆ ซึ่งสำหรับ ศกร.ตชด.บ้านแม่เหลอแห่งนี้ ที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ชายขอบ มีปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนไฟฟ้าและน้ำใช้ค่อนข้างมาก ทางคณะทำงานจึงได้มีมติกันว่าจะต้องให้ความช่วยเหลือด้านนี้อย่างเร่งด่วน จนสรุปออกมาเป็นภารกิจหลัก ๆ อาทิ การ สร้างฝายน้ำล้น บ่อพักตะกอน และถังเก็บน้ำให้กับโรงเรียน รวมถึงติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม จากของเดิมที่โรงเรียนมีอยู่ นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการ ปรับปรุงอาคารเรียน โรงอาหาร ของเด็ก ๆ ด้วยการเทปูนซีเมนต์ เนื่องจากของเดิมเป็นเพียงลานดิน เมื่ออากาศแห้ง เมื่อมีลมพัดมา จะทำให้ฝุ่นจากพื้นดินคละคลุ้งไปทั่ว จนเด็ก ๆ ที่นี่เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจค่อนข้างมาก

          “ทั้งหมดไม่ได้เกิดจากเราต้องการทำ แต่มาจากความต้องการของโรงเรียนครับ” ...ปองคุณ ย้ำจุดมุ่งหมายสำคัญของกิจกรรมนี้ และกับ ฝายน้ำล้น ที่โครงการช่วยจัดทำขึ้นใหม่นั้น ต้องใช้กระสอบทรายมากถึงกว่า 6,500 กระสอบ ที่นับเป็นงานที่โหดหินเอาเรื่อง ซึ่งกับเรื่องนี้หัวหน้าโครงการหิ่งห้อยเล่าว่า ด้วยความที่บริษัทฯ ทำธุรกิจ พลังงานสีเขียว เช่น พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ จึงอยากใช้ความรู้ที่มีมาช่วยชุมชนบนพื้นที่สูง เพราะบนที่สูงนั้นน้ำจะมีให้ใช้อย่างจำกัด คือมาแล้วก็จะหมดไปอย่างรวดเร็ว อย่างเช่นที่บ้านแม่เหลอแห่งนี้ เป็นต้น โดยช่วงหน้าฝนน้ำจะมีเยอะ ซึ่งถ้าช่วยให้ชุมชนกักเก็บน้ำไว้ได้ก็จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของเด็กบ้านแม่เหลอดีขึ้น ซึ่งเรื่องน้ำนี้เป็นประโยชน์กับเด็กมาก เนื่องจากเด็กบางส่วนต้องอาศัยอยู่ที่โรงเรียน เพราะระยะทางจากบ้านกับโรงเรียนห่างไกล ไม่สะดวกเดินทางแบบไปเช้าเย็นกลับ คุณครูจึงช่วยกันจัดทำแปลงผักและพื้นที่เลี้ยงสัตว์ขึ้นมาให้เด็กได้ใช้ผลผลิตเหล่านี้ไปประกอบอาหารเช้าและอาหารกลางวัน แต่เนื่องจากบางเดือนน้ำในลำธารมีน้อย จึงกระทบกับกิจกรรมเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของการสร้างฝายและถังเก็บน้ำขึ้นใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีที่ย่อส่วนจากเทคโนโลยีจริงในโครงการของบริษัท

          อย่างไรก็ดี นอกจากการทำกิจกรรมเชิงซีเอสอาร์แล้ว เบื้องหลังกิจกรรมที่เกิดขึ้นยังแฝงไปด้วย “เป้าหมายที่แท้จริง” ในกิจกรรมอีกด้วย โดยเรื่องนี้ทางเอ็มดี ซีเคพี ได้อธิบายว่า จุดเด่นของโครงการหิ่งห้อย คือทุกคนที่มาร่วมกันทำงานจะไม่มีการแบ่งฝ่าย ไม่มีการแบ่งงานทำตามความถนัด แต่จะถูกกำหนดภารกิจว่าใครต้องรับผิดชอบเรื่องอะไร หรือต้องทำอะไรบ้าง เช่น พนักงานฝ่ายบัญชี-การเงิน ก็อาจจะต้องเรียนรู้และช่วยงานด้านการก่อสร้าง หรือวิศวกรก็อาจจะต้องสลับไปดูแลเรื่องการเบิกจ่ายของในสโตร์ หรือดูแลเรื่องของบัญชีต่าง ๆ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้ได้เรียนรู้การทำงานใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน ซึ่งเหตุผลของการสลับหน้าที่แบบนี้ เพื่อให้เกิดมุมมองใหม่ ๆ และเข้าใจถึงการทำงานของเพื่อนพนักงานที่อยู่ต่างฝ่ายต่างแผนกกัน นอกจากนั้น การที่ได้ลองทำสิ่งที่ไม่คุ้นเคยหรือไม่ถนัดยังสร้างความมั่นใจในตัวเอง รวมถึงช่วยให้ค้นพบศักยภาพที่ซ่อนเร้นในตัวเอง เเละ ธนวัฒน์ ยังกล่าวว่า...

          “อย่างผมก็ได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ เช่น ผมต้องไปฝึกผูกเหล็กเพื่อทำเป็นโครงสร้างของถังเก็บน้ำ หรือต้องไปช่วยเขาผสมปูน หรือเทปูนด้วยเลย เพราะคนที่มาทำงานที่นี่ทุกคนไม่ได้มาเที่ยว แต่มาลำบาก ซึ่งความลำบากนี้มีจุดประสงค์อยู่ ซึ่งผมเชื่อว่าทุกคนจะรู้สึกภูมิใจมาก เมื่อได้เห็นว่าหยาดเหงื่อแรงใจที่ทุ่มลงไปมีคุณค่าแค่ไหนสำหรับคนที่เขาขาด หรือต้องการจริง ๆ”

          ขณะที่ ปองคุณ เสริมถึงเรื่องนี้ว่า ด้วยความที่องค์กรเพิ่งจะมีการรีเอนจิเนียริ่งไปไม่นาน ซึ่งในแง่โครงสร้างก็ได้มีการปรับเปลี่ยนไปแล้ว แต่ยังขาดเรื่องปฏิสัมพันธ์ของคนในองค์กร ทางผู้บริหารจึงต้องการให้กิจกรรมนี้เป็นเสมือนกาวเชื่อมใจทุกคนด้วย ทำให้ในปีนี้ภารกิจจึงแยกย่อยออกเป็นหลายส่วน และมีพนักงานมาเป็นจิตอาสาทำงานร่วมกันมากถึงเกือบ 150 ชีวิต ทั้งจากสำนักงานกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด รวมถึงจากส่วนงานที่ฝั่ง สปป.ลาว ซึ่งหลังจากแต่ละภารกิจจบลงก็ได้เกิดปรากฏการณ์ที่ดีมาก ๆ คือ หลายคนรู้จักสนิทสนมคุ้นเคยกันมากขึ้น จากที่อาจจะรู้จักกันแค่เพียงผิวเผิน หรือรู้จักกันเฉพาะตามสายงาน แต่หลังจากที่ต้องมาลำบาก ต้องมาเหนื่อยทำงานร่วมกันชนิดแทบหมดแรง ทุกคนก็เลยหลอมรวมเข้าหากัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันโดยอัตโนมัติ ซึ่งสำหรับเขาเองในฐานะหัวหน้าโครงการนี้ ก็รู้สึกดีใจ และภูมิใจที่กิจกรรมนี้ทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีแบบนี้ขึ้นด้วย

          “มีครบทุกอารมณ์ครับ (หัวเราะ) สุขคลุกเศร้า เสียน้ำตาก็มี แต่เมื่องานสำเร็จทุกคนก็ดีใจ ยิ่งบางคนที่ไม่เคยทำอะไรแบบนี้มาก่อน แรก ๆ ก็อาจจะรู้สึกกดดัน ไม่ก็เหนื่อยจนทำไม่ไหวแล้ว แต่พอได้กำลังใจจากเพื่อนก็กัดฟันลุกขึ้นสู้ต่อได้ บางคนพองานเสร็จถึงกับร้องไห้ก็มี อย่างผมก็เสียน้ำตา ไม่ใช่เสียใจ แต่ดีใจที่ทำได้ครับ” ...ปองคุณ กล่าว

          ทั้งนี้ เบื้องหลังกิจกรรมโครงการนี้น่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะ“รูปแบบ” ที่แตกต่าง จึงอดถามกับผู้บริหาร ซีเคพี ไม่ได้ว่า สรุปแล้วกิจกรรมนี้ถือเป็นซีเอสอาร์แนว ใหม่หรือไม่?? ซึ่งเขาบอกว่า ตอบไม่ได้ว่าเป็นแนวใหม่หรือเปล่า เพราะไม่ได้คิดจะทำแข่งกับใคร หรือจะต้องได้รางวัลอะไร “เอาเป็นว่าเป็นซีเอสอาร์ในแบบฉบับของเราก็แล้วกันครับ” พร้อมกับทิ้งท้ายว่า เป้าหมายที่แท้จริงของโครงการนี้นั้น คือ ไม่เพียงเป็นแสงสว่างให้กับชุมชน แต่ยังช่วยจุดแสงสว่างให้กับคนในองค์กรเองด้วย นั่นคือ ทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกดีต่อตนเองที่ได้มาร่วมกันทำสิ่งดี ๆ ซึ่งสำหรับตัวเขาเองก็เชื่อมั่นว่า ความรู้สึกเล็ก ๆ ความอิ่มเอมใจที่ได้ลงมือทำเพื่อคนอื่น ซึ่งเกิดขึ้นนี้ แม้ใช้เงินมากมายเท่าใดก็ไม่สามารถหาซื้อได้

          “ตอนที่เห็นรอยยิ้มดีใจของเด็กกับคุณครู ความรู้สึกมันเหมือนมีแสงสว่างส่องเข้ามาที่หัวใจเลยครับ” ...ทาง ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ ผู้บริหาร ซีเคพี หรือ ซีเค พาวเวอร์ กล่าวอย่างมีความสุขถึงความรู้สึกที่ได้รับ

          ระหว่างกำลังก้าวขึ้นรถเพื่อเดินทางกลับ นอกจากรอย ยิ้มของเด็กและคุณครูที่มายืนส่งเราแล้ว ขณะที่รถกำลังจะเคลื่อนตัวนั้น ทาง ครูจรัส หรือ ด.ต.จรัส ครูใหญ่ของโรงเรียนก็ได้มาร่ำลา พร้อมบอกเราว่า “เด็ก ๆ คงดีใจที่ปีนี้ได้ของขวัญปีใหม่ชิ้นใหญ่ที่สุดที่เคยได้รับเลยครับ” ...ซึ่งนี่ก็เป็นอีกส่วนที่ทำเอาจิตอาสาหิ่งห้อยหลายคนน้ำตารื้น...

          สว่างในใจ...ในฐานะ... “ผู้ให้”

























...เดลินิวส์

ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา

อาคารศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กทม. 10400

0 2354 5730-40 ต่อ 414-415

0 2354 5741

etv_cet@hotmail.com

Centre for Educational Technology

Building Sri-Ayudhaya st., Rajatavee distric Bangkok 10400, THAILAND

66 2354-5730-40 ext. 414-415

66 2354 5741

etv_cet@hotmail.com

©2018 etvthai.tv.All rights reserved