รายการแนะนำ

โรงเรียนฉลาดเล่น พาเด็กขยับร่างกายในทุกโอกาส


          เด็กและเยาวชนไทยมีกิจกรรมทางกายอยู่ระดับปานกลาง แต่เนือยนิ่งค่อนข้างสูง มีพฤติกรรมติดหน้าจอ ส่งผลให้เกิดภาวะโรคอ้วนในเด็ก

          รายงานผลสำรวจ Report Card ในการประชุมนานาชาติว่าด้วยกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 (The 6th International Congress on Physical Activity and Health 2016) หรือ ISPAH 2016 Congress เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา พบเด็กและเยาวชนไทยมีกิจกรรมทางกายอยู่ระดับปานกลาง แต่เนือยนิ่งค่อนข้างสูง มีพฤติกรรมติดหน้าจอ ส่งผลให้เกิดภาวะโรคอ้วนในเด็ก

          จากปัญหาดังกล่าวสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม (วปส.) มหาวิทยาลัยมหิดล และ 13 โรงเรียนในสังกัด สพฐ. แถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “โรงเรียนฉลาดเล่น : Active School” และลงนามบัน ทึกความร่วมมือในการพัฒนางานวิจัยและขับเคลื่อนนโยบายภายใต้โครงการวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียน

          “องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ในแต่ละวันเด็กควรมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงหนัก 60 นาที ทุกวัน แต่เด็กไทยขยับร่างกายแค่วันละ 42 นาที มีพฤติกรรมนั่งนิ่งอยู่กับที่ถึงวันละ 13.35 ชั่วโมง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดภาวะโรคอ้วน” ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องร่วมขับเคลื่อนด้านวิชาการ นโยบาย และการสื่อสาร โดยพัฒนาหลักสูตร Active play และสื่อสารไปในสื่อต่าง ๆ รวมถึงในโรงเรียน เพื่อเป็นโปรแกรมทางเลือกสำหรับกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ตามนโยบายของรัฐบาล

          สามารถแบ่งช่วงเวลาการเคลื่อนไหวร่างกายของเด็กออกเป็น 10-20-30 นาที ในการทำกิจกรรม ได้แก่ การมีกิจกรรมตอนเช้า 10 นาที ก่อนเข้าเรียน การมีกิจกรรมระหว่างวันหรือพักเที่ยง 20 นาที ปิดท้ายด้วยการมีกิจกรรมตอนเย็น หลังเลิกเรียนอีก 30 นาที ก็สามารถช่วยลดพฤติกรรมเนือยนิ่งของเด็กได้

          ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา หัวหน้าโครงการวิจัย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล กล่าวถึงโครงการวิจัยเพื่อพัฒนารูปแบบการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียนทั้ง 12 โรงเรียน หัวใจสำคัญของแนวคิดโรงเรียนฉลาดเล่นคือ ทั้งคุณครูและนักเรียนได้ร่วมเรียนรู้และสนุกกับกิจกรรมต่าง ๆ อย่างมีชีวิตชีวา (Active Learning Together) นอกจากเป็นการพัฒนาด้านร่างกายของเด็กแล้วผลสำรวจ การวิจัยชี้ชัดเจนว่ายังสามารถพัฒนาเด็กได้ในอีก 5 มิติ คือ พัฒนาด้านการรู้คิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาได้ พัฒนาด้านอารมณ์และสังคม พัฒนา ด้านการสื่อสารและทักษะชีวิต พัฒนาด้านความสามารถและวิชาการ อันเป็นคุณสมบัติของเด็กในการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 และแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0
 
          โครงการวิจัยฯ ดังกล่าวนี้ ใช้เวลาดำเนินการ 3 ปี โดยคัดเลือกนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จาก 12 โรงเรียนที่เข้าร่วม และเก็บข้อมูลไปจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยมีเป้าหมาย คือ 1) เด็กไทยวิ่งเล่นทุกวัน วันละ 60 นาที 2) ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง โดยไม่ให้เด็กนั่งนิ่งต่อเนื่อง 60 นาที 3) ลดพฤติกรรมติดหน้าจอไม่เกิน 2 ชม. ต่อวัน โดยนำโมเดลโรงเรียนฉลาดเล่น 3 แบบ ให้โรงเรียนแต่ละแห่งเลือกนำไปใช้ตามบริบทของตน ประกอบด้วย โมเดล 1 เน้นส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายในทุกโอกาสของแต่ละวัน รวมถึงในห้องเรียน โดยปรับพื้นที่การเรียนการสอน ปรับนโยบาย เน้นให้คุณครูและนักเรียนเรียนรู้ร่วมกัน (Active Learning together) โมเดลที่ 2 เน้นส่งเสริมการมีกิจกรรม
ทางกายในช่วงเวลาพัก เวลาว่าง และชั่วโมงกิจกรรม และโมเดลที่ 3 เน้นส่งเสริมพื้นที่สำหรับการวิ่งเล่นและการเคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งทั้ง 3 โมเดลจะนำกิจกรรมในชุด “สารตั้งต้น” ที่เป็นกิจกรรมต้น แบบ 100 กว่ากิจกรรมแยกตามวิชา โดยนำมาประ ยุกต์ในการเรียน

           “ช่วงเช้าของทุกวันจะมีการบำเพ็ญประโยชน์รอบโรงเรียน หลังจากนั้นเด็ก ๆ ทุกคนจะรำมวยไทย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของโรงเรียน ช่วงเวลาพัก 10.30 น. เด็ก ๆ จะวิ่งเล่น และยืดเส้นยืดสาย ช่วงพัก 12.00 น. มีอุปกรณ์กีฬาทั้งกระโดดเชือก ฟุต บอล สนามเด็กเล่นให้เด็กได้ทำกิจกรรมกัน” นางพักตร์วิภา ตะเพียนทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดช้าง จ.พระนคร ศรีอยุธยา กล่าวถึงพฤติกรรมวิถีชีวิตของนักเรียนหลังเข้าร่วมโครงการวิจัยฯ แม้จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก สอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษา มีนักเรียนทั้งหมด 80 คน มีพื้นที่โรงเรียนทั้งหมด 3 ไร่ 3 งาน แต่ก็สร้างสรรค์กิจกรรมให้เด็กได้ขยับเขยื้อนร่างกาย

          โรงเรียนฉลาดเล่น นอกจากพัฒนาการด้านร่างกายของเด็ก ๆ ที่คาดว่าจะมีการเคลื่อนไหวตามวัยที่มากขึ้น ห่างไกลโรคอ้วนแล้วนั้น เด็กไทยจะสามารถเพิ่มพูนประสบการณ์ มีทักษะด้านการฟังพูดอ่านเขียน การคิดวิเคราะห์อย่างมีประสิทธิภาพที่ดีมากขึ้น....

















...เดลินิวส์

ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา

อาคารศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษา ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กทม. 10400

0 2354 5730-40 ต่อ 414-415

0 2354 5741

etv_cet@hotmail.com

Centre for Educational Technology

Building Sri-Ayudhaya st., Rajatavee distric Bangkok 10400, THAILAND

66 2354-5730-40 ext. 414-415

66 2354 5741

etv_cet@hotmail.com

©2018 etvthai.tv.All rights reserved